การเขียนแผนธุรกิจ หลายคนอาจมองว่าไม่สำคัญ และหากดูตัวอย่างจากคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจ หลายคนเริ่มจากการลงมือทำ มากกว่ามานั่งวางแผนก่อนแล้วทำตาม แต่ถึงอย่างนั้น หากคุณไม่มีเงินทุนและอยากจะขอกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงิน ในรูปแบบของสินเชื่อ เพื่อมาเริ่มต้นการทำธุรกิจ การมีแผนธุรกิจเตรียมไปนำเสนอ ถือเป็นใบเบิกทางชั้นดี ที่จะช่วยให้ได้รับการอนุมัติง่ายขึ้น
หากมีไอเดียในการเริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว แต่ยังไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาลงทุน และอยากจะเขียนแผนธุรกิจ แต่ไม่รู้ว่าต้องมีอะไรบ้าง SGEPRINT มีหัวข้อต่าง ๆ มาบอก พร้อมคำแนะนำที่จะช่วยให้แผนธุรกิจของคุณเป็นที่น่าสนใจ พร้อมแล้วมาลุยกันเลยสารบัญ
การเขียนแผนธุรกิจ คืออะไร
ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ ทุกคนย่อมมีสินค้าที่ต้องการจะขาย มีรูปแบบของการบริการที่อยากให้ลูกค้าเข้ามาใช้งาน แต่เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า กลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการนั้น ๆ คือใคร มีวิธีการแบบไหนที่จะทำให้คนสนใจจะเข้ามาซื้อ มีต้นทุนอะไรบ้างที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้สุดท้ายแทนที่จะประสบความสำเร็จ กลับต้องเป็นหนี้เป็นสินแทน
การเขียนแผนธุรกิจ จึงเปรียบเสมือนการวางเป้าหมายของสินค้าและบริการที่มี ว่าจะตอบโจทย์คนกลุ่มไหน สร้างรายได้อย่างไรได้บ้าง มีแผนการเงิน การตลาดอย่างไรในการทำให้ธุรกิจเติบโต และหากตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน จะมีมาตรการอะไรมารับมือ เพื่อให้ยังคงอยู่รอด ซึ่งด้วยการเขียนมันออกมา จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมในการทำธุรกิจได้รอบด้าน จนอาจสามารถเอามาเป็นแนวทางในการดำเนินการและใช้แก้ไขปัญหาได้ในอนาคต
การเขียนแผนธุรกิจที่ดีควรมีอะไรบ้าง
1. บทสรุปผู้บริหาร
ในฐานะผู้เริ่มต้นธุรกิจ ย่อมรู้ดีที่สุดว่า ธุรกิจส่วนไหนมีรายละเอียดอะไร ต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้น ในส่วนของบทสรุปผู้บริหาร นอกจากจะสรุปภาพรวมของธุรกิจคุณแล้ว ยังเป็นส่วนโชว์ไอเดียและวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ที่ทั้งลูกจ้าง พนักงานในบริษัท พาร์เนอร์ทางธุรกิจ ตลอดจนสถาบันทางการเงิน ล้วนต้องการเห็น จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเขียนออกมาให้ชัดเจนและมีรายละเอียดครบถ้วนมากที่สุด โดยรายละเอียดที่ควรมี คือ
- ชื่อธุรกิจ/ที่ตั้งของธุรกิจ : รายละเอียดของชื่อโครงการ / บริษัท / ห้างหุ้นส่วน / กิจการ ที่ตั้ง ของธุรกิจ
- เหตุผล/แนวความคิดในการดําเนินธุรกิจ : สามารถแก้ปัญหาลูกค้า หรือ เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่
- ผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการของธุรกิจ : รายละเอียดทั่วไป เช่น แบบ ขนาด สี คอร์ส เป็นต้น มีราคาขาย ค่าบริการ สถานที่จําหน่ายหรือสถานที่ให้บริการที่ไหน
- สภาวะตลาด : สภาวะการแข่งขันของธุรกิจ ในประเภทเดียวกันเป็นอย่างไร
- ความสามารถทางการแข่งขัน : วิธีการที่ธุรกิจเลือกในการแข่งขันกับคู่แข่ง หรือ ธุรกิจอื่นในตลาด เช่น มีราคาขายหรือราคาค่าบริการที่ถูกกว่า มีจุดเด่นของสินค้า หรือมีช่องทางจัดจําหน่ายที่มากกว่าหรือไม่
- ลูกค้าเป้าหมาย : มีลูกค้าเป้าหมายคือใคร ลักษณะเป็นอย่างไร เช่น เพศ อายุรายได้ จํานวนรายได้ การศึกษา พฤติกรรม เหตุผลในการตัดสินใจ เป็นต้น
- กลยุทธ์ทางการตลาด : มีวิธีการตั้งราคาขาย เลือกช่องทางจัดจําหน่าย หรือเลือกโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางใดบ้าง
- แผนการผลิตหรือการบริการ : รายละเอียดสถานที่ตั้งโรงงาน หรือสถานที่ให้บริการ ประมาณการเกี่ยวกับยอดการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้า หรือเป้าหมายการให้บริการ
- การบริหารจัดการ : รูปแบบโครงสร้างการบริหารจัดการ นโยบายหรือแผนการในอนาคตของธุรกิจ
- สรุปผลทางการเงิน : ประมาณการเกี่ยวกับยอดขาย รายได้
- สรุปผลกําไรของธุรกิจ : ผลจากการวิเคราะห์ทาง การเงิน เช่น ระยะเวลาคืนทุน จุดคุ้มทุน NPV IRR เป็นต้น
2. วัตถุประสงค์ในการนําเสนอแผนธุรกิจ
เมื่อมีแผนธุรกิจ ถ้ามีไว้เพื่อสำหรับดูเป็นแนวทางสำหรับตัวของนักธุรกิจเอง หรือ เพื่อแจกจ่ายแก่พนักงานในองค์กรให้ได้ทราบ แนวทางหรือเป้าหมายของบริษัท อาจไม่ต้องเขียนถึงวัตถุประสงค์ เนื่องจากไม่มีความจำเป็น แต่หากนำไปใช้เพื่อนำเสนอกับสถาบันทางการเงิน หน่วยงานที่สนใจ หรือ นักลงทุน ควรเขียนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจอย่างชัดเจน ว่ามีวัตถุประสงค์เช่นใด เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้พิจารณาแผนธุรกิจได้ทราบเป้าหมายของการเขียนแผนธุรกิจนี้ จะได้ให้คำตอบหรือความสนใจอย่างจริงจัง ตามที่ผู้นำเสนอแผนธุรกิจต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการขอกู้เงิน การขอความร่วมมือช่วยเหลือ หรือ เพื่อชักชวนให้เกิดการลงทุน ฯลฯ
3. ความเป็นมาของธุรกิจ
บอกเล่าถึงที่มาของธุรกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่ามีประวัติอย่างไร ผ่านอะไรมาบ้าง ตั้งแต่แนวความคิดของผู้ก่อตั้งธุรกิจ การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความสำเร็จอะไรบ้าง มีผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพื่อโชว์ถึงภาพรวมในอดีต ซึ่งอาจจะทำให้สามารถคาดการณ์สภาพของธุรกิจได้ในอนาคต
4. สินค้าและบริการ
ให้ข้อมูลสินค้าและบริการของธุรกิจว่า มีลักษณะหรือรายละเอียดอย่างไร เช่น ชนิดหรือรูปแบบของสินค้าหรือบริการ ราคาขาย ลักษณะบรรจุภัณฑ์ ตราหรือโลโก้ผลิตภัณฑ์ รูปแบบก่อนและหลังบริการการขาย ทั้งนี้ ควรมีรูปภาพของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ แนบไปด้วย โดยหากเป็นสินค้า ก็ถ่ายภาพให้เห็นตัวอย่าง ส่วนบริการ ถ้าอยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ก็ควรถ่ายให้เห็นสถานที่ ขั้นตอนการบริการ รวมถึงบรรยากาศ ให้เห็นด้วย
5. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด
เนื้อหาส่วนนี้จะแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของคุณ มีโอกาสในอุตสาหกรรมหรือตลาด ที่ธุรกิจตนเองกำลังเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่หรือไม่ โดยการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วสรุปออกมาว่า สภาวะตลาดตอนนี้เป็นอย่างไร ยังสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้หรือไม่ มีคู่แข่งมากหรือน้อย นอกจากนี้ การทำ SWOT ANALYSIS จะช่วยให้รู้จุดเด่น – จุดด้อยของธุรกิจตนเอง และมองเห็นปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแข่งขัน สภาพเศรษฐกิจ ค่านิยมของสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ว่าจะเป็นโอกาสหรืออุปสรรคมากกว่ากัน ต่อการทำธุรกิจของคุณ
6. แผนบริหารจัดการ
แสดงข้อมูลของคณะกรรมการบริหาร ตลอดจนรายชื่อหุ้นส่วนและพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อโชว์ตำแหน่งหน้าที่ อำนาจความรับผิดชอบ แผนผังองค์กร แผนงานและค่าใช้จ่ายบุคลากร เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ ยังต้องแสดงนโยบายการจ่ายเงินปันผล รวมถึงแผนดำเนินการอื่น ๆ ของธุรกิจ เพื่อแสดงถึงความสามารถในการบริหาร และการสร้างผลตอบแทนแก่หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการทำธุรกิจได้อย่างหนึ่ง
7. แผนการตลาด
วางแผนการตลาด ให้สินค้าและบริการของธุรกิจ เข้าถึงกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างยอดขาย โดยต้องบอกถึงกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าได้ จากนั้น ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสร้างแรงจูงใจ ให้เกิดความต้องการซื้อ ไม่ว่าจะเป็น ราคา การบริการก่อนและหลังการขาย การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายที่มากขึ้น และการส่งเสริมการตลาด ที่จะทำให้สินค้าและบริการรู้จักในวงกว้าง เช่น การประชาสัมพันธ์ การสร้างสื่อโฆษณา เพื่อโปรโมตในสื่อออฟไลน์และออนไลน์ เป็นต้น
8. แผนบริการ
หากธุรกิจเป็นในลักษณะของรูปแบบการบริการ ควรเขียนแผนบริการ ตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ ข้อมูลการให้บริการ สามารถให้บริการได้เต็มที่เท่าไหร่ เช่น จำนวนลูกค้า จำนวนชั่วโมง จำนวนที่นั่ง จำนวนรอบ ฯ นอกจากนี้ ยังต้องมีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ใช้ ขั้นตอนการบริการที่มีตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งถ้าให้ดีอาจทำเป็นแผนผังประกอบ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
9. แผนการเงิน
ในส่วนนี้ อาจให้นักวางแผนทางการเงินหรือคนที่มีความรู้ด้านการเงิน เข้ามาช่วยเขียนและวางแผน โดยรายละเอียดที่ต้องมีเช่น เงินประมาณการในการลงทุน ทรัพย์สินที่ใช้ในการทำธุรกิจ สมมติฐานทางการเงินของธุรกิจเช่น การคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของลูกค้า การเพิ่มขึ้นของรายได้ มีนโยบายทางการเงินต่อธุรกิจตนเองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดถึงที่มาของรายได้ – รายจ่าย การกำหนดรอบเวลาเครดิตลูกหนี้ – เจ้าหนี้ หรือ การตั้งสำรองเงินสดในมือหรือธนาคาร ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุมการเงินของตนเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะชี้วัดความอยู่รอดและการเจริญเติบโตของธุรกิจ
10. แผนฉุกเฉิน
เพราะการทำธุรกิจมีความเสี่ยง ทั้งจากการดำเนินงานที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้และกำไร และผลกระทบจากสภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจคาดเดา จึงควรมีแผนฉุกเฉินรองรับ เพื่อไม่ให้ขาดทุนหนัก โดยควรพิจารณาจุดอ่อนและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจตนเอง เพื่อเตรียมวิธีรับมือและแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ การตลาด การผลิต และการเงิน ตัวอย่างเช่น การลอกเลียนแบบสินค้า ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การถูกตัดราคา การขาดรายได้กะทันทันจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น
ข้อดีของการเขียนแผนธุกิจ
1. ใช้ขออนุมัติสินเชื่อได้
หากมีความคิดที่น่าสนใจ และจากการเขียนแผนธุรกิจ บ่งบอกว่า ธุรกิจของคุณมีโอกาส มีความสามารถในแข่งขันทางตลาดสูง รวมถึงมีแผนการเงินการตลาดดี ขาดทุนน้อย สร้างกำไรมาก เวลานำไปใช้การขออนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ก็มีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสูง เนื่องจากดูมีเครดิตและมีความสามารถในการใช้หนี้ได้นั่นเอง
2. มีแนวทางในการทำธุรกิจชัดเจน
ถึงจะมีไอเดียอยู่ในหัว แต่เมื่อนานไป ก็อาจหลงลืม หรือ มีความจำที่ผิดเพี้ยนไป จนอาจทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแนวทางที่ต้องการได้ การมีแผนธุรกิจที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งบ่งบอกถึงแนวทาง เป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจน จะยังคงทำให้คุณสามารถทำธุรกิจได้ ตามแนวทางที่ต้องการได้ตั้งแต่แรกเสมอ
3. มองเห็นโอกาสและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
จากการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งช่วยให้เห็นสภาวะตลาด จะทำให้คุณสามารถรู้ว่า สินค้าและบริการของธุรกิจ มีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดหรือไม่ สามารถสร้างกำไรหรือขาดทุนมากกว่ากัน นอกจากนี้ การต้องเขียนแผนการตลาด แผนการเงิน รวมไปถึงแผนฉุกเฉิน จะทำให้คุณเห็นจุดอ่อนของแผนงานในแต่ละส่วน ซึ่งถ้านำไปพูดคุย ประชุมกับทีมงานหรือพาร์ทเนอร์ หรือที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาที่มี ก็จะช่วยให้แผนธุรกิจของคุณแข็งแกร่งมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา อันจะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและมั่นใจ