จดทะเบียนบริษัท เมื่อกิจการเติบโตจำเป็นหรือเปล่า ในเมื่อยุคนี้ การเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องยาก และเดี๋ยวนี้ก็มีสามารถจ้าง Outsource ในการช่วยทำงานได้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะลุยเดี่ยว ปลุกปั้นธุรกิจของตนเองให้เติบโต ด้วยตัวคนเดียว เพราะต้องการอิสระ และลดภาระค่าใช้จ่าย ที่อาจเกิดขึ้น
แต่ถึงมีความคิดเห็นอย่างนั้น เมื่อมองไปมองมารอบ ๆ กลับพบว่า คนที่ทำธุรกิจหลายคน สุดท้ายก็เลือกที่จะ จดทะเบียนบริษัท ในที่สุด ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้น ก็ไม่ได้เช่าอาคาร เปิดสำนักงาน เหมือนบริษัททั่วไป พวกเขามีเหตุผลอะไรถึงต้องทำอย่างนั้น แล้วคนทำธุรกิจอย่างเรา ต้องไปจดทะเบียนบริษัทกับเขาด้วยมั้ยนะ จดแล้วจะดีรึเปล่า SGEPRINT จึงจะชวนมาดูเหตุผลว่า ทำไมต้อง จดทะเบียนบริษัท พร้อมบอกรายละเอียดขั้นตอนการจดทะเบียน หากคุณเกิดเปลี่ยนใจสารบัญ
เหตุผลที่ต้อง จดทะเบียนบริษัท
1. เสียภาษีน้อยลง
แม้เป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยทุกคนที่ต้องปฏิบัติตาม แต่การทำธุรกิจ จุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือ ผลกำไร หากดำเนินธุรกิจในฐานะบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้ จะต้องจ่ายภาษีโดยคำนวณจากเกณฑ์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหากมียังไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด ก็ยังไม่ต้องเสีย แต่ถ้ามีมากขึ้นเท่าไหร่ อัตราที่จะต้องเสียภาษี ก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยถ้ากิจการเริ่มเติบโต จนมีรายได้เริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เท่ากับหรือมากกว่า 5 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี 35% เลยทีเดียว
นั่นจึงทำให้นักธุรกิจหลายคน เลือกที่จะจดทะเบียนบริษัท เพื่อจ่ายภาษีลดลง เพราะเมื่อเป็นบริษัทแล้ว จะถูกคิดภาษีแบบนิติบุคคล โดยคำนวณจากกำไรสุทธิเป็นหลัก ซึ่งหากมีกำไร เท่ากับหรือมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษีแค่ 20% เท่านั้น แถมหากเป็น SME แล้วมีทุนจดทะเบียนชำระ เท่ากับ 5 ล้านบาท และมีรายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ล้านบาท ก็จะยิ่งได้รับสิทธิ์ลดหย่อยทางด้านภาษีเพิ่มขึ้นอีก จึงเป็นสาเหตุหลักเลยก็ว่าได้ที่คนไปจดทะเบียนบริษัท เพื่อเสียภาษีน้อยลง
2. เมื่อต้องการสร้างเครดิต
เครดิตทางการการเงินและความน่าเชื่อถือ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะไม่มีใครที่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้โดยตัวคนเดียวได้ตลอด เนื่องจากยิ่งเติบโต ก็จะต้องมีการเจรจาสั่งซื้อ นำเข้าสินค้า กับคู่ค้า ร่วมทุน ร่วมหุ้น กับพาร์ทเนอร์ หรือ หุ้นส่วน ต้องร่วมมือกันทำงานกับบุคคล และองค์กรอื่น ๆ ที่อาจสนใจ มาจ้าง มาทำธุรกิจด้วยอีก ไหนอาจจะต้องไปเจรจาเพื่อขอเงินกู้ สินเชื่อ กับสถาบันทางการเงิน ในกรณีที่ต้องการเงินทุนมาหมุนเวียน หรือ เพื่อขยายกิจการ
การจดทะเบียนบริษัท จึงมีความสำคัญมาก ณ จุดนี้ เพราะเมื่อมีสถานะบริษัท สถานะทางการเงินจะมีความน่าเชื่อถือทันที เนื่องจากจะถูกบังคับให้ต้องทำตามกฎหมาย นั่นคือ ต้องมีนักบัญชี มาจัดทำบัญชี งบการเงิน ต่าง ๆ แล้วก็ยังต้องมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะยื่นเอกสารไปยังกรมสรรพากรเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งด้วยกระบวนการดังกล่าว จะทำให้เห็นว่า บริษัท มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือ มีเครดิตเพียงพอต่อการทำธุรกิจ อันจะทำให้ไม่ว่าคู่ค้า หุ้นส่วน หรือสถาบันทางการเงิน ต่างก็ไว้ใจที่จะทำธุรกิจ ร่วมงาน หรือให้เงินทุนสนับสนุนแก่บริษัทของคุณ
จดทะเบียนบริษัท แบบไหนดี
ก่อนจะเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัท ควรจะรู้ว่า สามารถจดได้แบบไหนบ้าง และมีกี่ประเภท เพราะแต่ละแบบ แต่ละประเภท ก็มีเงื่อนไข แตกต่างกันไป โดยในที่นี้จะเน้นเฉพาะแบบนิติบุคคล สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ
คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะจดหรือไม่จดทะเบียนนิติบุคคลก็ได้ โดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วนมีประเภทเดียวเ คือ ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถตกลงทำกิจการร่วมกันและแบ่งปันกำไรจากกิจการได้อีกด้วย แต่ถ้ากิจการขาดทุน หุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน มีอัตราการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ความรับผิดชอบของหุ้นส่วน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบ “จำกัด” และ แบบ “ไม่จำกัด” ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” จะไม่สามารถตัดสินใจในกิจการได้ และผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” จะมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในกิจการได้ทั้งหมด ถ้าหากกิจการขาดทุน ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะไม่ต้องจ่ายภาษี
3. บริษัทจำกัด
กลุ่มคนหรือองค์กรที่มีการจัดตั้ง โดยมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งมีการแบ่งหุ้นของแต่ละคนออกเป็นเท่าๆ กัน มีหน้าที่ความรับผิดเฉพาะ ในส่วนของหุ้นที่ตนเองซื้อไว้เท่านั้น และมีอัตราการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ การจดทะเบียนในลักษณะนี้ จะทำให้มีภาพลักษณ์ดี สามารถการวางแผนกิจการได้รัดกุม สามารถจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท เพื่อบริหารธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือใหห้กับกิจการ
สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อ จดทะเบียนบริษัท
ในการจดทะเบียนบริษัท สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ต้องเตรียมก็คือ เงิน สำหรับจดทะเบียนบริษัท โดยทั้งหมดจะมอบให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะต้องเตรียมออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ทุน
ทุน หรือ ทุนจดทะเบียน คือ เงินทั้งหมดที่เราคิดว่าจะใช้ลงทุนในการจัดตั้งบริษัท เงินส่วนนี้จะต้องนำไปจดแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อจดแล้วจะได้ใบรับรองออกมา สำหรับเกณฑ์ว่าจะต้องใช้ทุนเท่าไหร่ในการจดทะเบียนนั้น ไม่แน่นอน แต่มีหลักการคำนวณอยู่ว่า ให้ดูว่าธุรกิจที่คุณทำนั้น คืออะไร แล้วต้องใช้เงินลงทุนอย่างน้อยเท่าไหร่ ให้คิดเงินจากสองอย่างนี้เป็นหลัก โดยอาจคิดจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงาน ค่าอุปกรณ์ ค่าสินค้า ฯลฯ มาคำนวณเป็นทุนที่จะใช้ในการจดทะเบียน
ทั้งนี้ หากมีเงินไม่เพียงพอที่จะใช้ในการจดทะเบียน ตามจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้แจ้งไป สามารถไปจดแจ้งไว้อย่างน้อย 25% จากเงินทุนทั้งหมดก็ได้ สมมติ ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สามารถวางเงินจำนวน 250,000 บาท ได้ ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกเรียกว่า ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว อย่างไรก็ตาม การแจ้งจำนวนทุน ควรระบุให้ชัดเจนว่า จดทะเบียน เป็นจำนวนเงินทุนจำนวนเท่าไหร่ ชำระจริงเท่าไหร่ มีเงินจากหุ้นส่วน หรือส่วนที่กู้ยืมจากไหนบ้าง เพื่อไม่ให้ผิดกฏหมายและสามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง
2. ค่าธรรมเนียมการจดบริษัท
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 กระทรวงพาณิชย์มีประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีสาระสำคัญคือการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม การลดอัตราค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ ได้รับประโยชน์ในแง่ของค่าใช้จ่าย ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลดลงจากเดิม ช่วยให้เหล่าผู้ประกอบการให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ง่ายขึ้น
โดยในสมัยก่อน ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนตั้งบริษัทนี้ จะคิดตามมูลค่าทุนจดทะเบียน ทำให้ค่าธรรมเนียมจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 5,000 – 250,000 บาท แต่กฎหมายใหม่นี้ ทำให้เราเสียค่าธรรมเนียมนี้เพียง 5,000 บาทเท่านั้น ไม่ว่าทุนจดทะเบียนของคุณจะเท่าไรก็ตาม
ในขณะเดียวกัน ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งสมัยก่อนจะคิดตามมูลค่าทุนจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะอยู่ที่ช่วง 500-25,000 บาท แต่ในกฎหมายฉบับใหม่จะใช้อัตราค่าธรรมเนียมคงที่ที่ 500 บาทเท่านั้น
รวม ๆ แล้ว หากเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องและจำเป็นทั้งหมด (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ไปยื่นจดทะเบียนที่หน่วยงานในสังกัดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท 5,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองหุ้นส่วนบริษัท 200 บาท
- ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
- ค่าอากรแสตมป์หนังสือบริคณห์สนธิ 200 บาท
- ค่าอากรแสตมป์หนังสือจดทะเบียน 200 บาท
เบ็ดเสร็จ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 6,200 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ อาจมีค่าตรวจเอกสารเพิ่มเติมอีก 50 บาท
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท
1. ตรวจและจองชื่อบริษัท
การจดทะเบียนบริษัท จะต้องแจ้งความจำนงค์ไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะไปสมัครที่สำนักงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยตรง หรือเข้าไปที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสมัครสมาชิกได้ฟรี ก็ได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ การตั้งชื่อบริษัท จะต้องเป็นชื่อใหม่เท่านั้น โดยสามารถเข้าไป จองชื่อ/ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล เพื่อให้ได้ชื่อบริษัทตามที่ต้องการ ซึ่งสามารถทำได้มากถึง 3 ชื่อ โดยชื่อนั้น ๆ จะต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือแสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ โดยจะต้องยื่นไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อเรียบร้อย โดยข้อมูลที่ต้องใช้ในการจัดตั้งบริษัท มีดังนี้
- ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้)
- ที่ตั้งสํานักงานใหญ่ / สาขา
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จํานวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชําระแล้ว อยางน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ
- รายชื่อหรือจํานวนกรรมการที่มีอํานาจลงชื่อแทนบริษัท (อํานาจกรรมการ)
- ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจํานวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
3. รอการตรวจสอบเอกสาร
เมื่อส่งเอกสารตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ให้รอการตรวจสอบจากนายทะเบียน หากมีส่วนไหนจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมจะได้รับการแจ้งกลับ
4. เตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อใช้จดทะเบียนบริษัท
เอกสารที่ต้องเตรียมมา ประกอบเป็นหลักฐานเพื่อใช้จดทะเบียนบริษัท คือ
- แบบจองชื่อนิติบุคคล
- สําเนาบัตรประจําตัวของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน
- สําเนาหลักฐานการรับชําระคาหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
- แผนที่แสดงที่ตั้งสํานักงานใหญ่และสถานที่สําคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
หมายเหตุ: เอกสารทุกฉบับผู้ขอจดทะเบียนจะต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องอย่างน้อยหนึ่งคน ยกเว้นสำเนาบัตรประจําตัวหรือหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน เจ้าของบัตรจะต้องเป็นผู้เซ็นรับรองความถูกต้องด้วยตนเอง
5. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท
ยื่นคำขอได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ใกล้บ้านผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนและมอบหนังสือรับรอง ก็แสดงว่าผู้ประกอบการเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
สิ่งที่ต้องคิดก่อน จดทะเบียนบริษัท
1. มีความพร้อมและจริงจังมากแค่ไหน
แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการจดทะเบียนบริษัท คือ การลดภาษีและสร้างเครดิตเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจของคุณภายใต้สถานะบริษัท จะดำเนินงานต่อจากนี้ได้อย่างราบรื่น เพราะจะต้องทำตามกฎหมาย ในเรื่องของการทำบัญชี งบการเงิน เพื่อส่งให้ผู้สอบบัญชี ส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไหนจะต้องจัดการส่วนของผู้ถือหุ้น ให้ออกมาอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และถ้าหากเลิกกิจการ ก็ไม่สามารถเลิกได้ทันที ต้องไปจดทะเบียนเลิกและจัดการบัญชีต่าง ๆ ให้เรียบร้อย คุณจึงจะต้องพร้อมและจริงจัง ๆ จริง ก่อนที่จะตัดสินใจจะจดทะเบียนบริษัท เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเรื่องยุ่งยากที่อาจตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัท หุ้นส่วนที่เข้ามาร่วมหัวจมท้าย รวมถึงทุนในการจดทะเบียนว่าควรใช้เท่าไหร่
2. คิดถึงการดำเนินธุรกิจและรายได้ ก่อนบริษัท
หลายคนอยากจะทำธุรกิจ ในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ตนเองรักเท่านั้น ไม่ได้คิดจะขยายกิจการให้ใหญ่โต ถ้าดีก็ทำต่อ ถ้าเจ๊งก็ล้มเลิกไม่เจ็บตัว ดังนั้น จึงควรจะโฟกัสที่ตัวธุรกิจให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการบริการ โปรโมชั่น กลยุทธ์การตลาด เพราะตราบใดที่รายได้ยังมีไม่มาก นั่นก็หมายความ คุณก็ยังเสียภาษีในเกณฑ์ไม่แพงมากนัก แล้วเมื่อมีรายได้จำนวนมากเข้ามา จนการเสียภาษีเริ่มเป็นภาระที่ทำให้กำไรเริ่มหดหาย ถึงตอนนั้นค่อยมาคิดเรื่องการจดทะเบียนบริษัทก็ยังทัน