ทฤษฎีสี สำคัญต่องานออกแบบ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น สิ่งพิมพ์ กล่องบรรจุภัณฑ์ วัตถุ หรือ สิ่งของต่าง ๆ  ล้วนต้องใช้สี เพื่อสร้างความสวยงามและดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปทั้งนั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่นักออกแบบทุกคน ควรมีความรู้และเชี่ยวชาญในการใช้สี

หากใครคิดจะออกแบบ แล้วไม่รู้จะใช้สียังไง วันนี้ SGEPRINT จะมาบอกความรู้เกี่ยวกับ ทฤษฎีสี ให้ทุกคนได้รู้จักกัน พร้อมเคล็ดลับการใช้สี ที่จะทำให้งานออกแบบของคุณสวยขึ้นได้ อย่างทันทีทันใด

สี คืออะไร ?

สี

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับ สี กันก่อน โดย สี นั้นก็คือ คลื่นแสงที่กระทบต่อวัตถุ แล้วแสงจากวัตถุนั้น สะท้อนเข้าสู่สายตาเราเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งสีที่แต่ละคนเห็นนั้น ก็อาจเห็นเป็นหลายเฉดสีได้และแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อม โดยเมื่อคนเราได้เห็นสี จะส่งผลให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ตามอิทธิพลของสีนั้น ๆ  เช่น สดชื่น ร้อน ตื่นเต้น เศร้า ฯลฯ การใช้สีให้เป็นในงานออกแบบ จึงมีความสำคัญมาก หากต้องการให้งานออกแบบนั้น ๆ  ส่งผลด้านใดด้านหนึ่งต่อผู้ที่ได้ชมหรือได้เห็น ไม่ว่าเพื่อให้เกิดความจรรโลงใจ ความสวยงาม หรือเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด เป็นต้น

แม่สีและวงจรสี

สี

สี ที่เราเห็นกันมากมายนั้น แท้จริงเกิดจากสี 3 สี เท่านั้นคือ แดง เหลือง น้ำเงิน นั่นจึงทำให้มีการเรียกทั้ง 3 สีนี้ว่า แม่สี (Primary Colour) โดยแม่สีนี้และที่ทำให้เกิด วงจรสี ซึ่งจะทำให้ซึ่งใช้ในการออกแบบ โดยหากนำแม่สีนั้นมาผสมกัน จะก่อให้เกิดสีขั้นที่ 2 (Secondary Colour) ตามมา เช่น

สีเหลือง + สีน้ำเงิน = เขียว

สีแดง    + สีเหลือง = ส้ม

สีน้ำเงิน + สีแดง    = ม่วง

และหากนำแม่สี มาผสมกับสีขั้นที่ 2 อีก ก็จะได้สีขั้นที่ 3 (Tetriary Colour) จนครบกลายเป็นวงจรสีอย่างที่เห็น ทั้งนี้ ในวงจรสี ก็จะแบ่งแยกย่อยออกมาได้อีก เป็นสีในวรรณะร้อนและวรรณะเย็น ซึ่งก็จะให้อารมณ์ ความรู้สึก ที่แตกต่างกันเวลานำไปใช้

ทฤษฎีสี

วงจรสี

(เครดิต: krittayakorn.wordpress.com )

วรรณะของ สี

ทฤษฎีสี

สี วรรณะร้อน และ สี วรรณะเย็น

(เครดิต: toritoth.com)

เมื่อแบ่งวงจรสีออกครึ่งหนึ่ง จะพบว่า สี มี 2 วรรณะ คือ วรรณะร้อน และ วรรณะเย็น โดยสีที่อยู่ในวรรณะทั้ง 2 สีนี้ ได้แก่

วรรณะร้อน (Warm Tone)

มีอยู่ 7 สี ได้แก่ ม่วง ม่วงแดง แดง แดงส้ม ส้ม ส้มเหลือง เหลือง สีกลุ่มนี้เมื่อใช้ในงานออกแบบ จะให้ความรู้สึกอบอุ่น ร้อนแรง สนุกสนาน ฯลฯ

วรรณะเย็น (Cool Tone)

มีอยู่ 7 ชนิด ได้แก่ สีเหลือง เหลืองเขียว เขียว เขียวน้ำเงิน น้ำเงิน น้ำเงินม่วง ม่วง สีกลุ่มนี้เมื่อใช้งาน จะไห้ความรู้สึกสดชื่น เย็นสบาย เป็นต้น

สีที่เป็นทั้งวรรณะร้อนและวรรณะเย็น

เมื่อผ่าครึ่ง จะพบว่ามีที่อยู่ระหว่างวรรณะร้อน และ วรรณะเย็น คือ สีเหลืองและม่วง ซึ่งสีใดสีหนึ่งนี้ จะอยู่ในวรรณะไหน ก็ขึ้นอยู่กับสีที่แวดล้อมเป็นตัวกำหนด เช่น หากนำสีเหลืองไปไว้กับสีแดงและส้ม ก็กลายเป็นสีโทนร้อน แต่หากนำมาไว้กับสีเขียวก็จะเป็นสีโทนเย็นทันที

สีกลาง (Muddy Colors)

สีกลาง ในความหมายนี้เป็นสีที่เข้ากับสีได้ทุกสี ได้แก่ สีน้ำตาล สีขาว สีเทาและดำ สีเหล่านี้เมื่อนำไปใช้งานลดความรุนแรงของสีอื่นและจะเสริมให้งานดูเด่นยิ่งขึ้น

Hue Saturation Value ของสี

สี

นอกจากแม่สีที่ทำให้เกิดวงจรสี Hue Saturation Value ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสีต่าง ๆ โดยความหมายของแต่ละคำคือ

Hue

คือ สีสันต่างๆ (Chromatic colour) เช่น แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน ฟ้า เป็นต้น ซึ่งแต่ละสีก็จะมีความสดใสเป็นของตัวเองและจะค่อยๆไล่ระดับตามสีสันที่เปลี่ยนไป เช่น สีแสดก็จะมีความแดงสูงกว่าสีส้ม และสีส้มก็จะมีความแดงสูงกว่าสีเหลือง

Saturation

หรือบางทีเรียกว่า Chroma แปลตรง ๆ ได้ว่า ความอิ่มตัวของสี การที่ Saturation ทำให้เกิดสีต่าง ๆ อีกนั้น เกิดจากการนำเอาสีเทา ซึ่งมีค่าความอิ่มตัวเท่าศูนย์ (0) มาผสมกับสีสันต่าง ๆ ในวงจรสี ยิ่งเมื่อผสมลงไปมากเท่าไหร่ Hue หรือ สีสันของสีนั้น ๆ ก็จะลดลงตามความหม่น หรือ ลดลงตามอัตราส่วนของสีเทาที่ผสมมากขึ้นเท่านั้น จนทำให้ สี นั้น ๆ เกิดเฉดสีใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่าง เช่น หากนำเอาสีเทาไปผสมเหลือง ก็จะทำให้เกิดสีเหลืองมีเฉดสีใหม่ คือ สีเหลืองไพล หรือ สีเหลืองมัสตาร์ด ซึ่งสีเหล่านี้ก็จะมีค่า Saturation น้อยกว่า สีเหลือง แท้ ๆ เป็นต้น อาจเรียกได้ว่า ค่านี้ ทำให้เกิดโทนสีแบบต่าง ๆ ขึ้น

Value

หรือ Brightness แปลตรง ๆ ได้ว่า “ความอ่อน ความสว่าง” จะทำให้เกิดเฉดหรือโทนสีใหม่ ๆ โดยที่นำสีดำ ซึ่งมีค่า Brightness ต่ำสุด และสีขาว ซึ่งมีค่า Brightness สูงสุด มาผสมกับสีหลัก ๆ ในวงจรสี เมื่อสีนั้น ๆ มีปริมาณสีขาวและสีดำเจือปนอยู่ จะก่อให้เกิดสีใหม่ ๆ เช่น สีแดง ถ้านำเอาสีขาว ที่มี Brightness สูงไปผสมมาก ๆ  จะกลายเป็นสีชมพู แต่ถ้านำเอาสีดำที่มีค่า Brightness ต่ำ ไปผสมกับสีแดง จะได้ออกมาเป็นสีน้ำตาล

ทฤษฎีสี

Hue Saturation Brightness (Value) ของสี

(เครดิต: snap2objects.com)

เลือก สี ไปใช้ในงานออกแบบยังไง

สี

ถึงตอนนี้ หลายคนอาจยังงงอยู่ว่า  ข้อมูลต่าง ๆ นี้จะทำให้ใช้สีเก่งขึ้น หรือเอาไปปรับใช้ในการออกแบบยังไง ก็ขอบอกได้เลยว่า ส่วนนี้นี่และ ที่จะมาบอกถึงวิธีการใช้งาน ที่แม้จะไม่เข้าใจถึงเรื่องราวของสีหรือเฉดสีต่าง ๆ มาก่อนเลย แต่หากจำสูตรเหล่านี้ได้แล้วละก็ รับรองว่าเอาสีไปใช้ในการออกแบบได้อย่างสวยงามแน่นอน โดยสูตรการเลือกใช้สี ก็มีดังต่อไปนี้

Achromatic

ทฤษฎีสี

หากใครต้องการงานออกแบบ ให้ออกโทน Dark หรือว่า ขาว แบบสว่างไปเลย แนะนำให้ใช้สูตรนี้ เพราะเป็นการผสมผสานสีโทนขาว-ดำ ในงานออกแบบเดียว ส่วนจะอยากให้ออกเป็นแนวไหน ก็เลือกปรับสัดส่วนของสีตามที่ชอบ

Monochromatic

ทฤษฎีสี

คือ การใช้สีเดียวกัน แต่คนละเฉดสี ซึ่งมีความเข้ม จาง สว่าง ขาว แตกต่างกันมาใช้งานเดียว จะช่วยให้งานออกมาดูไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็เพิ่มมิติให้มากขึ้น ทำให้มีความสวยงาม มีความเป็นเอกภาพของงานทันที

Analogus

สี

สูตรการเลือกสี แบบ Analogus

(เครดิต: slideteam.net)

เป็นวิธีการเลือกสีในวงจรสี สีใดสีหนึ่งเป็นหลัก แล้วเลือกสีที่อยู่ข้าง ๆ ออกมา 2 สี สีนี้จะคล้ายกับสูตรแรก คือจะยังคงทำให้โทนสีของงานออกแบบ ออกมาในทิศทางเดียว แต่ก็มีความสีสันและลูกเล่นที่มากขึ้น

Complementary

สี

สูตรการเลือกสี แบบ Complementary

(เครดิต: slideteam.net)

ใช้การเลือกสีที่อยู่ตรงข้ามกันมาใช้ในงานออกแบบ เช่น หากใช้สีแดง ก็จะใช้สีเขียวที่อยู่ตรงข้าม มาใช้งาน ถ้าใช้สีส้ม ก็จะเลือกสีน้ำเงิน มาใช้คู่กัน การเลือกสีวิธีนี้ จะช่วยให้งานของเรามีความคอนทราสต์ เพิ่มความแตกต่างให้เห็นได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ถ้าสีมันตรงข้ามจนเกินไป จนแต่ละสีต่างก็โดดเด่น ไม่เกิดความสมดุล อาจเลือกให้สีใดสีหนึ่งมีเฉดสีที่อ่อนลง เพื่อให้เกิดความสมดุลของงานออกแบบ

Spilt-Commentary

สี

สูตรการเลือกสี แบบ Split-Commentary

(เครดิต: slideteam.net)

คือ การเลือกสีหลัก แล้วเลือกสีที่อยู่รอบข้างของสีคู่ตรงข้ามแทน อีก 2 สี เป็นการใช้ 3 สี เมื่อเลือกแล้ว จะทำให้เกิดสามเหลี่ยมหน้าจั่วขึ้น (คือด้านใดด้านหนึ่งยาวกว่าอีกด้านหนึ่ง) เช่น หากเลือกสีแดง จะเลือกสีเหลืองและสีฟ้า ซึ่งอยู่ข้าง สีเขียว ที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน มาใช้งาน

Triad

สี

สูตรการเลือกสี แบบ Triad

(เครดิต: slideteam.net)

สูตรนี้ให้เลือกสี 3 สี โดยเมื่อลากเส้นออกมาแล้ว จะต้องเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า สามารถปรับใช้ได้ทั้งวงจรสี ภายใต้กฏข้อนี้ จะทำให้งานของเรามีสีสัน สะดุดตา ไม่ซ้ำใคร

Tetradic

สี

สูตรการเลือกสี แบบ Tetradic

(เครดิต: slideteam.net)

หากใช้ 2 หรือ 3 สี ยังไม่มากพอ ลองใช้สูตร Tetradic มาใช้งาน ซึ่งก็คือการเลือกสีออกมา 4 สี เมื่อลากเส้นจากแต่ละสีเชื่อมต่อกันแล้ว จะได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิธีนี้จะทำให้งานออกแบบ มีทั้งสีโทนร้อนและโทนเย็น ช่วยให้งานมีความแปลกใหม่ สะดุดตา และเพิ่มสีสันให้กับผลงานมากขึ้น

นอกจากแนวคิดต้องดี ความคิดสร้างสรรค์ต้องเริ่ดแล้ว สีสัน ก็ต้องสวยงามด้วย ถึงจะทำให้งานออกแบบมีความน่าสนใจ เป็นที่จดจำของผู้คน ซึ่งถ้าใช้รู้จักใช้สีเป็น ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ในชีวิตได้อีก เช่น การแต่งกาย การถ่ายภาพ การทำอาหารให้ดูน่ากิน ฯลฯ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ที่จะใช้สีออกมาให้โดดเด่นหรือสวยงาม จึงถือเป็นเรื่องที่คนทั่วไปควรจะเรียนรู้เอาไว้เช่นกัน เพราะถึงแม้ไม่ได้เป็นนักออกแบบ แต่ก็จะสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเอง ให้มีชีวิตชีวาและจรรโลงใจได้ในอนาคต