วันนี้ SGEPrint จะมาพูดถึงอาการยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม ให้ฟังกัน
เคยมั้ย? ที่ทำงานอยู่ดีๆ ก็ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ลามไปถึงหลัง อาการเหล่านี้ มนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราคงคุ้นเคยกันดีเหมือนเพื่อนซี้ แต่อย่าทำเป็นเล่นไป มันคือสัญญาณเตือนว่าคุณอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็น ภาวะออฟฟิศซินโดรม สูงมาก
ออฟฟิศซินโดรม Office Syndrome คือ กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับคนที่ทำงานท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เพราะต้องนั่งเพ่งจออยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คเป็นเวลานานๆ จึงถูกเรียกว่าออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง
คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ออฟฟิศซินโดรม หรือไม่?
- หากคุณต้องใช้คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค หรือสมาร์ทโฟนในการทํางานหรือชีวิตประจําวันอย่างต่อเนื่อง หรือมากกว่าครั้งละ 30 นาที
- คุณมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง ขณะนั่งทํางาน หรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานหรือไม่
- อาการปวดที่มี รบกวนการทำงาน และชีวิตประจำวันของท่าน
ถ้าคุณตอบใช่ ตั้งแต่ 2 ใน 3 ข้อขึ้นไป คุณมีสิทธิ์เป็นออฟฟิศซินโดรมสูงมาก
อาการของโรค ออฟฟิศซินโดรม
ทำความเข้าใจกับอาการของโรคนี้ก่อนว่าเกิดขึ้นจากอาการปวดของกล้ามเนื้อมัดเดิมเป็นระยะเวลานาน จากพฤติกรรมหรือท่าทางที่เรามักจะทำอยู่ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นั่งหลังค่อม ในเวลาทำงาน การยกของหนักๆ โดยไม่วอร์มกล้ามเนื้อ จนทำให้กลายมาเป็นอาการปวดเรื้อรัง ลำดับได้ดังนี้
ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะบัก ปวดตา ตึงคอ ตึงบ่า ตึงไหล่ ตึงสะบัก แล้วปวดขึ้นหัว จนมีอาการมึนหัว หน้ามืด บ้านหมุน ตึงหลังหู เกร็งต้นคอ ตึงไปจนถึงไหล่ และสะบัก เมื่อยก้น ขาเป็นเหน็บชา ปวดหัวเข่า ขาอ่อน ในบางรายปวดเป็นบริเวณกว้าง รู้ว่าปวดแต่หาจุดไม่เจอ
อาการเหล่านี้ถ้าปล่อยไว้จะยิ่งเรื้อรัง และเป็นหนักขึ้น จะทำให้ทรมานจนไม่สามารถทำงานต่อได้
ระยะของอาการออฟฟิศซินโดรม
ระยะแรก โดยทั่วไปอาการออฟฟิศซินโดรม มักจะเริ่มจากมีอาการปวดเมื่อยหรือปวดล้าขณะทำงานหรือหลังทำงาน แต่เมื่อได้ยืดเส้นยืดสายเปลี่ยนอิริยาบถหรือได้พักก็ดีขึ้น แต่จะเริ่มเป็นๆ หายๆ ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดอาการเรื้อรัง เป็นแล้วจะหายยาก
ระยะเรื้อรัง เมื่อเป็นไประยะหนึ่งอาการไม่ดีขึ้น เป็นบ่อย ขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ยังไม่ดี อาการปวดดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลง นั่นอาจเป็นสัญญาณลุกลามเข้าขั้นเรื้อรัง ต้องรีบรักษาโดยด่วน
ระยะรุนแรง มักมีอาการปวดแทบตลอดเวลา มีอาการชา อ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อเกร็งตัว ตาพร่ามัว เวียนศีรษะ ไมเกรน บางครั้งคลื่นไส้ บ้านหมุน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจทำให้ไม่สามารถทำงานปกติได้
ออฟฟิศซินโดรม รักษาหายได้หรือไม่?
ออฟฟิศซินโดรม รักษาหายได้ แต่คุณต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองควบคู่ไปด้วย ทั้งท่านั่งทำงาน ออกกำลังกายช่วย เช่น โยคะ
วิธีป้องกันและรักษาออฟฟิศซินโดรม
แพทย์เฉพาะทาง
การฝังเข็ม (Dry needling) โดยการใช้เข็มที่มีขนาดเล็กปักลงไปในจุดที่กล้ามเนื้อเกร็งตัว โดยให้ปลายเข็มสะกิดเส้นใยกล้ามเนื้อ เพื่อให้คลายตัวและอาการปวดจะบรรเทาลง
การใช้เครื่องกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กความแรงสูง (Peripheral TMS /PMS) กระตุ้นบริเวณที่ปวดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยลดอาการกล้ามเนื้อตึงตัว ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ และใช้กระตุ้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งาน
การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย โดยใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกาย โดยมีนักกายภาพบำบัดและนักฝึกสอนออกกำลังกายดูแลเรื่องการออกกำลังกายและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยจัดโปรแกรมให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล
ยาคลายกล้ามเนื้อ มีทั้งแบบใช้กิน ทั้งแบบใช้ทา และแบบฉีด
แต่ทางที่ดีที่สุดและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและทำได้ด้วยตัวเองคือ ควรจัดท่าทางขณะทํางานให้เหมาะสม โดยคุณหมอได้แนะนำให้เปลี่ยนท่าเวลาทำงานบ่อย ๆ อย่านั่งท่าเดิม ๆ ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ ให้เกร็งกล้ามเนื้อ หน้าท้องหรือแขม่วพุงนั่นเอง จากนั้นให้ยืดซี่โครงให้สุด เป็นการบริหาร แบบยืดและหย่อน ทำเรื่อย ๆ ที่นึกได้ จะช่วยให้อาการปวดหายได้
และออกกําลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อแกนกลาง หากมีอาการปวดเพิ่มขึ้น หรือมีอาการปวดต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินและรับคําแนะนําที่ถูกต้อง หากปล่อยไว้จนเกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง การรักษาอาจถึงขั้นผ่าตัดก็เป็นได้