ไดคัทสติ๊กเกอร์ เทคนิคไดคัทฉบับง่าย
เมื่อพูดถึงสติ๊กเกอร์หรือฉลากติดสินค้าแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้ดีไซน์ที่สวยงามก็คือ “การไดคัท” เพราะเส้นไดคัทที่สวยงาม ขนาดพอดี เหมาะสมกับชิ้นงาน จะช่วยส่งเสริมให้สติ๊กเกอร์ของคุณดูสวยงามขึ้นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ !
วันนี้ SGE Print มีเกร็ดความรู้และเทคนิคการไดคัทสติ๊กเกอร์และฉลากสินค้า แบบรวบรัดแต่เข้าใจง่าย ชนิดที่อ่านโพสต์นี้จบก็สามารถทำเองได้เลย ! มาฝากค่ะ
ทำความเข้าใจกันก่อน !
การไดคัท คือ การสร้างเส้นล้อมรอบชิ้นงาน เพื่อใช้กับคำสั่งตัดสำหรับทำ สติ๊กเกอร์ และ ฉลากติดสินค้า โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างไดคัทสติ๊กเกอร์ที่สะดวก เข้าใจง่าย และนิยมใช้กัน คือ AI
การไดคัทสติ๊กเกอร์มี 2 แบบด้วยกัน คือ การไดคัทขอบนอก และ การไดคัทขอบใน
- ไดคัทขอบนอก = เป็นการสร้างเส้นไดคัทให้มีขนาดใหญ่กว่าชิ้นงานจริง ใช้กับงานที่ต้องการให้มีขอบขาว หรือขอบใส (แล้วแต่ว่าเลือกใช้สติ๊กเกอร์เนื้อ/สีแบบไหน) ล้อมรอบชิ้นงานไว้
- ไดคัทขอบใน = เป็นการ ไดคัท แบบกินเนื้องานเข้าไป ใช้กับชิ้นงานที่เป็นพื้นหลังสีทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นงานติดสีพื้นของสติ๊กเกอร์ ตอนที่ตัดออกมา ตอนทำชิ้นงานจึงจำเป็นจะต้องสร้างพื้นหลัง ให้มีขนาดใหญ่กว่าชิ้นงานจริงเล็กน้อย
เทคนิคการไดคัท : อ่านแล้วจำ ทำตามได้เลย !
- การแยกเลเยอร์
จำไว้ว่าเส้นไดคัทจะต้องแยกจากชิ้นงานเสมอ ดังนั้นอย่าลืม สร้างเลเยอร์ใหม่ก่อนสร้างเส้นไดคัทนะคะ
ทริค : ควรตั้งชื่อเลเยอร์ ไดคัท ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนตอนทำ
- สีของ เส้นไดคัท ก็สำคัญนะ
แม้ว่าเราจะแยกเลเยอร์เส้นไดคัทจากชิ้นงานแล้ว แต่หากสีของเส้นไดคัทเหมือน หรือใกล้เคียงกับชิ้นงาน ก็จะทำให้เราเกิดความสับสน มองลำบาก และทำงานยากอยู่ดีค่ะ ดังนั้น ควรเปลี่ยนสีของเส้นไดคัท ให้ต่างจากสีของชิ้นงาน จะได้ทำงานได้ง่ายขึ้น มองปุ๊บก็รู้ปั๊บ ว่าเส้นไดคัทของเราอยู่ตรงไหน
- เส้นไดคัท ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เสมอไป!
สร้างเส้นไดคัทได้ง่าย ๆ เพียงคลิกที่เส้นนอกสุด ที่ล้อมรอบชิ้นงาน แล้วคัดลอก (Ctrl+C) จากนั้นวาง (Ctrl+V) ในเลเยอร์ใหม่ เท่านี้ก็ได้เส้นไดคัทคมๆแล้วค่ะ
ทริค : วิธีนี้ใช้ได้กับชิ้นงานที่เส้นนอกสุดที่ล้อมรอบชิ้นงาน เชื่อมต่อกันเป็นรูปเดียวกันเท่านั้นนะ
- สร้างชิ้นงานที่มีรูปร่างเป็นเลขาคณิตสิ ! ไดคัทง่าย
สำหรับมือใหม่หัดไดคัท แนะนำให้สร้างชิ้นงานที่เป็นรูปร่างเลขาคณิต จะได้เส้นล้อมรอบชิ้นงานที่เชื่อมต่อกันแบบอัตโนมัติ สามารถคัดลอกมาเป็นเส้นไดคัทได้เลย หรือถ้าต้องการสร้างเส้นไดคัทใหม่ให้มีขนาดใหญ่ หรือเล็กกว่าชิ้นงานจริง ก็สร้างได้ง่าย ๆ ด้วย Shape tool ใน AI ค่ะ
ทริค : การใช้ Shape tool ใน AI -> เลือกรูปร่างที่ต้องการ คลิกหนึ่งครั้งที่หน้ากระดาษ จะปรากฏหน้าต่าง สำหรับกำหนดขนาดรูปร่างขึ้นมาทันที แค่ใส่ขนาดที่ต้องการ ก็ได้เส้นไดคัทสวย ๆ แล้วค่ะ
- แล้วชิ้นงานที่มีรูปร่างอิสระล่ะ ไดคัท ยังไง ?
สำหรับชิ้นงาน ที่ไม่เป็นรูปร่างเลขาคณิต มีรูปร่างอิสระ ไม่เชื่อมต่อกัน รวมถึงชิ้นงานที่มีเส้นขอบที่ซับซ้อน ต้องการความละเอียด วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด ทั้งยังใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ การใช้เครื่องมือ Pen tool ใน AI วาดขึ้นมาใหม่ ตามรูปร่างของชิ้นงาน เพียงเท่านี้ก็จะได้เส้นไดคัท ที่รูปร่างใกล้เคียงกับชิ้นงานแล้วค่ะ
- สร้างชิ้นงาน และ เส้นไดคัท เสร็จแล้วต่อไปต้องทำอะไรล่ะ ?
- ปิดตาเลเยอร์เส้นไดคัท
แล้ว save เฉพาะชิ้นงานเป็น ไฟล์ TIFF เพราะสามารถกำหนดค่า resolution (ความคมชัด) ได้มากเท่าที่ต้องการ ยิ่งชิ้นงานเล็กยิ่งต้องใส่ค่าคมชัดให้สูง
- การทำสติ๊กเกอร์ต้องมีไฟล์ 2 แบบ คือ ไฟล์สำหรับสั่งปริ้น = ไฟล์ที่วางชิ้นงานตามจำนวนที่ต้องการ แต่ไม่มีเส้นไดคัท แนะนำให้ export เป็น TIFF เพื่อความคมชัด กับ ไฟล์สำหรับสั่งตัด = ไฟล์ที่มีทั้งชิ้นงานและเส้นไดคัท แต่ต้องอยู่คนละเลเยอร์กัน ! อย่าลืมล่ะ !! save เป็น PDF ค่ะ
และนี่ก็คือ 6 เทคนิคในการทำไดคัทสำหรับ สติ๊กเกอร์ และ ฉลากติดสินค้า ที่จะช่วยให้ การทำไดคัท ที่ใครหลาย ๆ คนมองว่ายาก กลายเป็นเรื่องง่าย อ่านจบแล้ว อย่าลืมลองทำตามกันดูนะคะ รับรองเลยค่ะว่าชิ้นงานของคุณ จะออกมาตรงตามกับที่จินตนาการไว้อย่างแน่นอน
Leave A Comment