สโลแกน ตั้งอย่างไรให้ติดหู จดจำง่าย สร้าง identity ให้กับแบรนด์ SGEPRINT มี 4 เทคนิคมาฝาก พร้อมบอกข้อควรรู้ในการตั้งสโลแกน ที่แบรนด์ดังระดับโลกมักใช้กัน ใครอยากตั้งสโลแกนให้กับธุรกิจของตนเอง แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรแล้วละก็ ตามมาดูกันเลย

ทำไมต้องตั้ง สโลแกน ?

สโลแกน

1. ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้

นอกจากชื่อแบรนด์ ก็มี สโลแกน นี่และ ที่จะทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ได้ เพราะเมื่อกลายเป็นคำที่ติดหู หรือ วลีที่ติดปากแล้ว แม้จะบอกสโลแกน แทนชื่อแบรนด์ คนทั่วไปก็ยังสามารถจำแบรนด์ได้ ว่าเป็นแบรนด์อะไร เช่น “Just Do It” ของ Nike หรือ “บิด ชิมครีม จุ่มนม” ของ โอรีโอ้

2. ตอกย้ำจุดเด่น – จุดขาย ให้สินค้าและผลิตภัณฑ์

การใส่จุดเด่น จุดขาย ของสินค้าและผลิตภัณฑ์ ลงไปในสโลแกน จะช่วยตอกย้ำให้ผู้บริโภครับรู้ว่า สินค้าของคุณเหนือกว่า ดีกว่า สินค้าอื่น ๆ ในท้องตลาดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง

  • ราคา : “แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร…”
  • สรรพคุณ : “มี Hang ไม่มีแฮงค์”
  • คุณภาพ : “ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์”
  • การใช้งาน : “ยาดมตราโป๊ยเซียน ใช้ดมใช้ทาในหลอดเดียวกัน”
  • ความเป็นของแท้ Original : “รีเจนซี่ บรั่นดีไทย” “เบียร์สิงห์ เบียร์ไทย”

3. ทำให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

เมื่อมีสโลแกน ติดหู ติดปาก เป็นที่น่าจดจำ ย่อมทำให้กลุ่มผู้บริโภค เกิดการบอกกันปากต่อปากง่ายขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการโฆษณาผ่านทาง TV หรือ Social Media เพียงอย่างเดียว

4. สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง

การตั้งสโลแกน เปรียบเสมือนคำนิยาม ที่จะช่วยบอกถึงจุดมุ่งหมาย หรือ คุณค่า ที่แบรนด์ต้องการมอบให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เป็นที่ 1 ในสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จนทำให้ แบรนด์ของคุณมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น “Think Different” ของ Apple ที่ต้องการสื่อถึง ความมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น หรือ “เป๊ปซี่ เต็มที่กับชีวิต” ที่ต้องการให้คนใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เหมือนกับความซ่าของเป๊บซี่ ที่อัดแน่น ไม่เคยหมด เป็นต้น

4 เทคนิคตั้ง สโลแกน ให้ติดหู จดจำง่าย

Slogan

1. สั้น กระชับ เข้าใจง่าย

เวลาตั้ง สโลแกน ต้องคิดให้สั้น กระชับ เข้าใจง่ายมากที่สุด จะได้ทำให้คนทุกเพศทุกวัยจดจำสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ควรยาวเกิน 10 คำ และ ในสโลแกน ควรมีชื่อแบรนด์ประกอบด้วย ยิ่งถ้าเกิดใครสามารถใส่จังหวะ หรือ ทำนองเพลง ลงไปได้ ก็จะยิ่งช่วยให้คนจดจำสโลแกนได้ง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

  • แลคตาซอย 5 บาท
  • คิดจะพักคิดถึง คิทแคท
  • หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เซเว่นอีเลฟเว่น
  • มิสทีน มาแล้วค่ะ
  • การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า
  • เบอร์ดี้ หนึ่งในใจคุณ
  • เป๊บซี่ เต็มที่กับชีวิต
  • อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้ามี ปาปริก้า

2. ให้ใจความ สื่อจุดเด่น จุดขายได้ทันที

นอกจากสั้น กระชับ เข้าใจง่ายแล้ว ยังต้องให้ใจความ สื่อจุดเด่น จุดขาย ที่แบรนด์ต้องการบอกผู้บริโภค เกี่ยวกับสินค้าบริการของตนเองได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น การใช้งาน รสชาติ คุณภาพ หรือ คุณค่าที่จะได้รับ เช่น

  • ยาดมตราโป๊ยเซียน ใช้ดมใช้ทาในหลอดเดียวกัน
  • โก๋แก่ มันทุกเม็ด
  • ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์
  • คิดจะดื่มน้ำ ดื่มคริสตัล
  • โอริโอ้ บิดชิมครีมจุ่มนม
  • แอร์เอเชีย ใคร ๆ ก็บินได้
  • มายมิ้นท์ พูดแล้วหอม

3. สร้างความรู้สึกด้านบวก หรือ ความรู้สึกดีต่อแบรนด์

เพื่อให้ผู้บริโภคได้ยินแล้วรู้สึกว่า แบรนด์ของเรามีคุณภาพ และ ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนสามารถให้คุณค่าอะไรบางอย่าง ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านใดด้านหนึ่งของพวกเขาให้ดีขึ้น ดังนั้น เวลาคิดในจุดนี้ อาจดูว่า สินค้าและบริการของเรา ช่วยแก้ปัญหาหรือให้คุณค่าอะไรกับลูกค้าได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน การใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หรือ คนรัก การได้รับสาระและความบันเทิงต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น

  • Toshiba นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต
  • MK ช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น
  • ฮานามิ ข้าวเกรียบรวยเพื่อน
  • ธนาคารกสิกรไทย บริการทุกระดับประทับใจ
  • ลอรีอัลปารีส คุณค่าที่คุณคู่ควร
  • คุ้มค่าทุกนาทีดูทีวีสีช่อง 3
  • ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ

4. เจาะจงไปที่กลุ่มเป้าหมาย

หากคุณเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าของคุณคือใคร สินค้าของคุณให้อะไรกับเขาได้บ้าง สามารถตั้งสโลแกน เอาใจคนกลุ่มนั้น ๆ ได้โดยเฉพาะเลย หากสื่อสารได้ตรงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ก็จะเพิ่มโอกาสให้มีคนอยากซื้อสินค้าคุณมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

  • กระทิงแดง ลูกผู้ชายตัวจริงกระทิงแดง
  • M150 ไม่มีลิมิตชีวิตเกิน 100
  • แรงเยอร์ แรงใจ ไม่มีวันหมด
  • คาราบาวแดง เชิดชูนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่
  • mansome ปลุกความเป็นชายในตัวคุณ
  • Jpress สบายหนุ่ม
  • Arrow เอกลักษณ์เฉพาะเอกบุรุษ
  • สวยที่สุดจากข้างใน Wacoal เป็นต้น

ข้อควรรู้ในการตั้งสโลแกน

สโลแกน

1. ใส่เพลงและเสียงดนตรีเข้าไปด้วย

จากผลการสำรวจพบว่า คนจะจดจำสโลแกนที่ใส่เพลงและเสียงดนตรีเข้าไปด้วย ได้ดีกว่า สโลแกนแบบที่เป็นประโยคสั้น ๆ ดังนั้น หากใครมีความสามารถ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตั้งสโลแกนได้ โดยอาจทำเป็นเพลงยาวอย่าง “แลคตาซอย 5 บาท…” หรือจะทำเป็นจิงเกิ้ลสั้น ๆ อย่าง “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เซเว่นอีเลฟเว่น” ก็ได้

2. เน้นย้ำสโลแกนบ่อย ๆ จะทำให้ผู้คนจดจำได้ดีขึ้น

คนส่วนใหญ่จำสโลแกนแบรนด์ดังหลาย ๆ แบรนด์ได้ เพราะถูกเน้นย้ำบ่อย ๆ ผ่านโฆษณาตาม TV วิทยุ กันตั้งแต่เด็ก ๆ ดังนั้น หากใครอยากให้สโลแกนของแบรนด์ เป็นที่จดจำแล้วละก็ ถ้าทำ Content เผยแพร่แบบออร์แกนิค บนโซเชี่ยลมีเดีย ก็อย่าลืมเขียนสโลแกนของเราปิดท้ายโพสทุกครั้ง หรือ ถ้าหากต้องการเผยแพร่รูปภาพ วิดีโอ เป็นวงกว้าง โดยการยิงแอดโฆษณา ก็ให้ใส่สโลแกนลงไปบนภาพ หรือ พูดถึงสโลแกนในวิดีโอบ่อย ๆ พอคนส่วนใหญ่ได้ดู ได้อ่านแล้ว จะได้จดจำสโลแกนแบรนด์ของเราได้ดีขึ้น

3. ไม่ควรใช้คำคะนอง หรือ ศัพท์วัยรุ่น

หากต้องการให้สินค้าของเราขายได้ทุกยุคทุกสมัย รวมถึงยังสามารถเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้ ไม่ควรใช้คำคะนอง หรือ ศัพท์วัยรุ่น เพราะจะเป็นการเข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม ไม่สามารถสื่อถึงคนส่วนใหญ่ได้ ยิ่งถ้าเวลาผ่านไป คำเหล่านี้ก็อาจตกยุค และ ไม่มีคนใช้ตามไปด้วย ก็อาจทำให้สโลแกนของเราตกยุค หรือ ไร้ความหมายดังนั้น หากต้องการให้สโลแกนของเราอยู่ยั้งยืนยงแล้วละก็ ไม่ควรใช้คำคะนอง หรือ ศัพท์วัยรุ่น แต่ควรตั้งสโลแกน โดยใช้คำไทยแบบง่าย ๆ จะดีที่สุด

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 4 เทคนิคตั้งสโลแกน ที่ SGEPRINT นำมาฝาก ทำตามได้ง่าย ๆ ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะ หากใครอยากมีสโลแกนเก๋ ๆ ให้กับธุรกิจของตน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรแล้วละก็ ลองทำตามได้เลย รับรองว่า คุณจะได้สโลแกนที่ทั้ง ติดหู และ จดจำง่าย พร้อมนำไปสร้าง Identity ของคุณได้อย่างแน่นอน

บทความที่น่าสนใจ